ข้อ ๑. สมาคมนี้มีชื่อว่า สมาคมศึกษาและพัฒนาโอเพ่นซอร์ส ย่อว่า ศ.พ.อ.
เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Open Source Education and Development Association ย่อว่า OSEDA
ข้อ ๒. เครื่องหมายของสมาคมมีลักษณะเป็น
รูป คนจับมือกันในลักษณะล้อมเป็นวงกลม และประกอบด้วย อักษรย่อและชื่อเต็มของสมาคม.
มีความหมายว่า คน หมายถึง กลุ่มนักพัฒนา Open Source ลักษณะการแสดงออกโดยการจับมือกัน หมายถึง ความร่วมมือร่วมใจรวมพลังสร้างสรรค์สิ่งใหม่ การจับมือกันที่เป็นวงกลม หมายถึง การที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา และองค์ประกอบของสัญลักษณ์จะมีชื่ออักษรย่อของสมาคม OSEDA เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งความหมายโดยรวมนั้นหมายถึง ความร่วมมือของนักพัฒนา Open Source ที่มุ่งมั่นสร้างสรรค์พัฒนาสิ่งใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลาเหมือนการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นตลอดเวลาเช่นกัน.
รูปของเครื่องหมายสมาคม
ข้อ ๓. สำนักงานของสมาคมตั้งอยู่ เลขที่ ๙๑ ซอยริมคลองชักพระ แขวงบางขุนนนท์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ๑๐๗๐๐.
ข้อ ๔. วัตถุประสงค์ของสมาคม เพื่อ
๔.๑ ส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการใช้งาน การศึกษา และการพัฒนาซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส ในทุกภาคส่วน ทั้งกลุ่มผู้ใช้ ชุมชน และนักพัฒนา
๔.๒ เสริมสร้างความเข้าใจ รวมถึงความเชื่อมั่นในการใช้งานซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สในวงกว้าง
๔.๓ จัดกิจกรรมส่งเสริมให้เกิดการใช้งาน การศึกษา และการพัฒนาซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส รวมถึงร่วมมือและประสานงานกับองค์กรภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา จัดกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับโอเพ่นซอร์สให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม
๔.๔ ศึกษา วิจัย และพัฒนาซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส รวมถึงเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส
๔.๕ เป็นศูนย์กลางเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร และการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น รวมถึงประสบการณ์ด้านการใช้งาน การศึกษา และการพัฒนาซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส
๔.๖ ประสานงานระหว่างองค์กรโอเพ่นซอร์สอื่นๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ใช้งาน และนักพัฒนาซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส
๔.๗ ดำเนินการหรือร่วมมือกับองค์กรการกุศลอื่นๆ เพื่อสาธารณประโยชน์ ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่ประการใด
ข้อ ๕. สมาชิกของสมาคมมี ๓ ประเภท คือ
๕.๑ สมาชิกสามัญ ได้แก่ บุคคลทั่วไปที่สนใจในการศึกษาและพัฒนาซอฟต์แวร์และชุมชนโอเพ่นซอร์ส
๕.๒ สมาชิกสามัญนิติบุคคล ได้แก่ สมาคม มูลนิธิ และองค์กรเอกชนที่สนใจ
๕.๓ สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ บุคคลผู้ทรงเกียรติ หรือทรงคุณวุฒิ หรือผู้มีอุปการะคุณแก่สมาคม ซึ่งคณะกรรมการลงมติให้เชิญเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์
ข้อ ๖. สมาชิกจะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
๖.๑ เป็นผู้สนใจ ศึกษา ใช้งาน หรือ เป็นผู้พัฒนาซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส
๖.๒ เป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อย
๖.๓ ไม่ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย หรือไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ หรือต้องโทษจำคุก ยกเว้นความผิดฐานประมาท หรือลหุโทษ การต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดในกรณีดังกล่าว จะต้องเป็นในขณะที่สมัครเข้าเป็นสมาชิกหรือในระหว่างที่เป็นสมาชิกของสมาคมเท่านั้น
ข้อ ๗. หน้าที่และสิทธิของสมาชิก
๗.๑ สมาชิกมีหน้าที่รักษาผลประโยชน์และเกียรติคุณของสมาคม และต้องสนับสนุนช่วยเหลือกิจกรรมของสมาคม ชำระค่าบำรุงและค่าธรรมเนียมอื่นตามที่คณะกรรมการบริหารสมาคมกำหนด
๗.๒ มีสิทธิเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการของสมาคมต่อคณะกรรมการ
๗.๓ มีสิทธิได้รับสวัสดิการต่างๆ ที่สมาคมได้จัดให้มีขึ้น
๗.๔ มีสิทธิเข้าร่วมประชุมใหญ่ของสมาคม
๗.๕ สมาชิกสามัญมีสิทธิในการเลือกตั้ง หรือได้รับการเลือกตั้ง หรือแต่งตั้งเป็นกรรมการสมาคม และมีสิทธิออกเสียงลงมติต่างๆ ในที่ประชุมได้คนละ ๑ คะแนนเสียง
๗.๖ มีสิทธิร้องขอต่อคณะกรรมการ เพื่อตรวจสอบเอกสารและบัญชีทรัพย์สินของสมาคม
๗.๗ สมาชิกที่ได้ชำระค่าบำรุงติดต่อกันไม่ต่ำกว่า ๓ ปี มีสิทธิเข้าชื่อร่วมกันไม่น้อยกว่า ๓๐ คน
ให้คณะกรรมการบริหารจัดประชุมใหญ่วิสามัญโดยทำเป็นหนังสือยื่นต่อคณะกรรมการบริหาร และในหนังสือนั้นจะต้องระบุด้วยว่าจะให้ประชุมพิจารณาญัตติเรื่องใด เมื่อคณะกรรมการบริหารได้รับหนังสือแล้ว ให้ตรวจสอบความถูกถ้วน แล้วดำเนินการตามคำร้องขอภายในกำหนด ๓๐ วัน นับแต่วันได้รับร้องขอ
๗.๘ มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติ และข้อบังคับของสมาคมโดยเคร่งครัด
๗.๙ มีหน้าที่ประพฤติตนให้สมกับเกียรติที่เป็นสมาชิกของสมาคม
๗.๑๐ มีหน้าที่ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินกิจการต่าง ๆ ของสมาคม
๗.๑๑ มีหน้าที่ร่วมกิจกรรมที่สมาคมได้จัดให้มีขึ้น
๗.๑๒ มีหน้าที่ช่วยเผยแพร่ชื่อเสียงของสมาคมให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย
ข้อ ๘. ผู้ประสงค์สมัครเป็นสมาชิก ให้ยื่นใบสมัครตามแบบของสมาคมต่อเลขาธิการ เมื่อเลขาธิการได้รับใบสมัครแล้ว ให้ตรวจสอบคุณสมบัติ และความถูกต้องก่อนเสนอต่อคณะกรรมการบริหารพิจารณาในการประชุมคราวต่อไป หากเลขาธิการเห็นว่าไม่สมควรรับผู้ใดเข้าเป็นสมาชิก ให้แจ้งให้ผู้นั้นทราบโดยไม่ชักช้า และให้ผู้นั้นมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อนายกสมาคมภายในกำหนดเวลา ๑๕ (สิบห้า) วัน นับแต่วันที่ได้รับคำปฏิเสธ และให้นายกสมาคมนำเรื่องเข้าหารือในการประชุมคณะกรรมการบริหารในคราวต่อไป
ข้อ ๙. ถ้าคณะกรรมการพิจารณาอนุมัติให้รับผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิก ก็ให้ผู้สมัครนั้นชำระเงินค่าลงทะเบียน
และค่าบำรุงสมาคมให้เสร็จภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากเลขานุการ และสมาชิกภาพของผู้สมัคร ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ผู้สมัครได้ชำระเงินค่าลงทะเบียน และค่าบำรุงสมาคมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ถ้าผู้สมัครไม่ชำระเงินค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงภายในกำหนด ก็ให้ถือว่าการสมัครคราวนั้นเป็นอันยกเลิก
ข้อ ๑๐. สมาชิกภาพสิ้นสุดลงเมื่อ
๑๐.๑ ตาย หรือ สาบสูญตามคำสั่งของศาล
๑๐.๒ ลาออก โดยยื่นหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการ และคณะกรรมการได้พิจารณาอนุมัติ และสมาชิกผู้นั้นได้ชำระหนี้สินที่ยังติดค้างอยู่กับสมาคมเป็นที่เรียบร้อย
๑๐.๓ ขาดคุณสมบัติสมาชิก
๑๐.๔ ที่ประชุมใหญ่ของสมาคม หรือ คณะกรรมการได้พิจารณาลงมติให้ลบชื่อออกจากทะเบียน เพราะสมาชิกผู้นั้นได้ประพฤตินำความเสื่อมเสียมาสู่สมาคม
ข้อ ๑๑. สมาชิกภาพของสมาชิกกิตติมศักดิ์ ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่หนังสือตอบรับคำเชิญของผู้ที่คณะกรรมการได้พิจารณาลงมติให้เชิญเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม ได้มาถึงยังสมาคม
ข้อ ๑๒. ให้มีกรรมการบริหารคณะหนึ่งจำนวนไม่น้อยกว่า เจ็ดคน แต่ไม่เกิน สิบห้าคน ประกอบด้วย นายกสมาคม คนหนึ่ง อุปนายกสมาคมจำนวนตามความจำเป็น เลขาธิการ เหรัญญิก และนายทะเบียน ตำแหน่งละ หนึ่งคน กับกรรมการเจ้าหน้าที่อื่นตามที่เห็นสมควร
ข้อ ๑๓. กรรมการบริหารพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
๑๓.๑ ถึงคราวออกตามวาระ
๑๓.๒ ตายหรือสาบสูญตามคำสั่งของศาล
๑๓.๓ ลาออกโดยยื่นหนังสือต่อนายกสมาคมและนายกสมาคมได้รับหนังสือนั้นแล้ว
๑๓.๔ ขาดจากสมาชิกภาพตามข้อ ๑๐
๑๓.๕ ขาดประชุมคณะกรรมการบริหาร สามครั้ง ติดต่อกันโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องให้นายกสมาคมทราบ
ข้อ ๑๔. คณะกรรมการบริหารมีหน้าที่และอำนาจดังต่อไปนี้
๑๔.๑ บริหารกิจตามวัตถุประสงค์และข้อบังคับของสมาคม
๑๔.๒ วางระเบียบและข้อบังคับต่างๆ เพื่อดำเนินการตามข้อ ๑๔.๑ โดยไม่ขัดกับข้อบังคับนี้
๑๔.๓ กำหนดตำแหน่งกรรมการเจ้าหน้าที่ตามข้อ ๑๔ วรรคหนึ่ง และตั้งอนุกรรมการเพื่อดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งของสมาคม
๑๔.๔ แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้มีเกียรติคุณเป็นที่ปรึกษาสมาคม โดยให้ที่ปรึกษาเข้าร่วมและออกความคิดเห็นในการประชุม แต่ไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน
ข้อ ๑๕. กรรมการบริหารอยู่ในตำแหน่งสมัยละ ๓ ปี เริ่มต้นและสิ้นสุดในวันประชุมใหญ่สามัญประจำปีในระหว่างที่คณะกรรมการบริหารชุดใหม่ยังไม่ได้รับตำแหน่งให้คณะกรรมการบริหารชุดเดิมปฏิบัติหน้าที่อันเป็นปกติไปพลางก่อน
ข้อ ๑๖. คณะกรรมการบริหารต้องประชุมอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง ในการประชุมต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่า กึ่งหนึ่ง ของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงถือเป็นองค์ประชุม ให้นายกสมาคมเป็นประธานในที่ประชุม ถ้านายกสมาคมไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้อุปนายกสมาคมเป็นประธานที่ประชุม และถ้าอุปนายกสมาคมไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม
ข้อ ๑๗. นายกสมาคม เป็นผู้แทนสมาคมในการติดต่อกับบุคคลภายนอก
๑๗.๑ นายกสมาคม มีหน้าที่อำนวยการบริหารกิจการของสมาคมให้เป็นไปตามข้อบังคับและวัตถุประสงค์ของสมาคม
๑๗.๒ อุปนายกสมาคม เป็นผู้ช่วยเหลือนายกสมาคม ทำการแทนเมื่อนายกสมาคมไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือปฏิบัติงานตามที่นายกสมาคมมอบหมาย
๑๗.๓ เลขาธิการ มีหน้าที่เป็นผู้นัดประชุมคณะกรรมการบริหาร นัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี นัดประชุมใหญ่อื่นๆ บันทึกการประชุม ดูแลรักษาเอกสารอื่นรวมทั้งทรัพย์สินต่างๆ ของสมาคม ติดต่อกับสมาชิกและปฏิบัติหน้าที่อย่างอื่นที่มิได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของ ผู้ใดผู้หนึ่งโดยเฉพาะ นอกจากนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการของสมาคมควบคุมพนักงานเจ้าหน้าที่ของสมาคม แต่การรับบุคคลเข้าทำงาน หรือให้ออกจากงาน เลขาธิการจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริหาร
๑๗.๔ เหรัญญิก มีหน้าที่เก็บรักษาเงิน ทำบัญชี,งบดุล และดูแลผลประโยชน์อันเกี่ยวเนื่องกับเงินและทรัพย์สินอื่นของสมาคม
๑๗.๕ นายทะเบียน มีหน้าที่จัดทำและเก็บรักษาไว้ซึ่งทะเบียนสมาชิกให้ตรงตามความเป็นจริง
ข้อ ๑๘. เงินรายได้ทั้งหมดของสมาคมให้ฝากไว้ที่ธนาคารที่มีความมั่นคง หรือซื้อตราสารทางการเงินที่ออกหรือรับรองโดยรัฐบาล ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการบริหาร การเบิกจ่ายเงินของสมาคมให้นายกสมาคม เลขาธิการและเหรัญญิกของสมาคม ลงลายมือชื่อร่วมกัน ๒ ใน ๓ และประทับตราของสมาคมเป็นสำคัญ
ข้อ ๑๙ .นายกสมาคมมีอำนาจสั่งจ่ายเงินได้ไม่เกินครั้งละ หนึ่งหมื่นบาท หรือรวมแล้วไม่เกิน สองหมื่นบาท ภายในหนึ่งเดือน หากจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินเกินกว่านี้ ต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริหาร การอนุมัติสั่งจ่ายเงินทุกครั้งตามวรรคหนึ่ง นายกสมาคมต้องแจ้งให้คณะกรรมการบริหารทราบในการประชุมคราวถัดไป
ข้อ ๒๐. เหรัญญิกมีอำนาจสั่งจ่ายเงินได้ไม่เกินครั้งละ ห้าพันบาท หรือรวมแล้วไม่เกิน หนึ่งหมื่นบาท ภายในเวลาหนึ่งเดือน เหรัญญิกจะเก็บเงินสดไว้ได้ไม่เกิน ห้าพันบาท เหรัญญิกต้องจัดทำงบดุล แสดงฐานะการเงินของสมาคมทุกเดือนปิดแสดงไว้ ณ ที่ทำการสมาคมและต้องทำงบดุลทุกวันที่ 31 ธันวาคมเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี
ข้อ ๒๑. นายกสมาคมและกรรมการบริหารให้เลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี โดยที่ประชุมเลือกสมาชิกสามัญจำนวน ๓ คน ขึ้นทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการเลือกตั้งให้สมาชิกสามัญเสนอชื่อผู้ที่อยู่ ในที่ประชุมผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกสมาคม จากสมาชิกสามัญด้วยกันต่อคณะกรรมการเลือกตั้ง โดยมีสมาชิกสามัญรับรองอย่างน้อย ๕ คน การเลือกตั้งให้กระทำโดยให้สมาชิกสามัญลงคะแนนลับ ผู้ได้คะแนนสูงสุดเป็นผู้ได้รับเลือกเป็นนายกสมาคม ถ้าได้คะแนนเท่ากัน ให้ใช้วิธีจับฉลาก ผู้ใดจะดำรงตำแหน่งนายกสมาคมติดต่อกันเกินกว่า ๒ สมัย ไม่ได้
เมื่อที่ประชุมเลือกนายกสมาคมได้แล้ว ให้ที่ประชุมมีมติกำหนดจำนวนคณะกรรมการบริหารส่วนที่เหลือตามข้อ ๑๒ จากนั้นให้นายกสมาคมมีสิทธิเลือกสมาชิกสามัญมาเป็นคณะกรรมการบริหารได้กึ่ง หนึ่งของจำนวนคณะกรรมการบริหารที่ที่ประชุมใหญ่กำหนด การเลือกตั้ง กรรมการบริหารสมาคมตามจำนวนที่ยังเหลือจากส่วนที่นายกสมาคมได้เลือกไปแล้วนั้น ให้สมาชิกสามัญเสนอชื่อสมาชิกสามัญผู้ที่อยู่ในที่ประชุม ซึ่งตนเห็นสมควรเป็นกรรมการบริหาร โดยมีสมาชิกสามัญรับรองอย่างน้อย ๕ คน และเลือกตั้งโดยให้สมาชิกสามัญลงคะแนนลับ ผู้ได้คะแนนสูงสุดตั้งแต่อันดับหนึ่ง ถึง อันดับสุดท้ายตามจำนวนคณะกรรมการ ถือว่าเป็นผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการบริหาร ถ้าได้คะแนนเท่ากันให้ใช้วิธีจับฉลาก
ผู้ได้รับคะแนนรองลงมาให้เป็นสำรอง กรรมการและให้เลื่อนขึ้นมาเป็นกรรมการแทนเมื่อกรรมการผู้ได้รับเลือกตั้งพ้น จากตำแหน่งหน้าที่ตามข้อ ๑๓ โดยให้กรรมการที่เข้ามาแทนอยู่เท่ากับวาระที่เหลือของคนที่ตนแทน กรรมการบริหารที่ไม่ใช่นายกสมาคมจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินกว่าสามสมัยไม่ได้ ให้คณะกรรมการบริหารชุดที่สิ้นสุดลงตามวาระ มอบงานให้คณะกรรมการบริหารชุดใหม่ภายในเวลา ๓๐ วันนับแต่วันที่ได้ดำเนิน การตามวรรคหนึ่งเรียบร้อยแล้ว
ข้อ ๒๒. การประชุมใหญ่ของสมาคมมีได้ 2 กรณี คือ
๒๒.๑ การประชุมใหญ่สามัญ
๒๒.๒ การประชุมใหญ่วิสามัญ
ข้อ ๒๓. ให้มีการประชุมใหญ่สามัญปีละหนึ่งครั้งภายในสัปดาห์ที่สามของเดือนพฤษภาคมของทุกปี เพื่อ
๒๓.๑ ให้คณะกรรมการบริหารแถลงผลงานในรอบปี
๒๓.๒ รับรองงบดุลประจำปี
๒๓.๓ ตั้งผู้ตรวจสอบบัญชี/ที่ปรึกษากฎหมาย
๒๓.๔ เลือกตั้งนายกสมาคมและคณะกรรมการบริหาร
๒๓.๕ เรื่องอื่นๆ
ข้อ ๒๔. การประชุมใหญ่วิสามัญกระทำได้เมื่อ
๒๔.๑ คณะกรรมการบริหารเห็นสมควรเมื่อมีปัญหาที่จะต้องหารือ หรือให้ที่ประชุมใหญ่วินิจฉัย
๒๔.๒ สามัญสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่าสามสิบคน ร้องขอให้เรียกประชุมตามข้อ ๗ (๗)
ข้อ ๒๕. การประชุมใหญ่ตามข้อ ๒๓ และ ๒๔ ต้องมีสามัญสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่า หนึ่งในสามของจำนวนสามัญสมาชิกทั้งหมด หรือจำนวนไม่น้อยกว่า ๓๐ คน จึงจะเป็นองค์ประชุม
ข้อ ๒๖. การนัดประชุมใหญ่ตามข้อ ๒๓ และ ๒๔ ให้เลขาธิการแจ้งให้สมาชิกทราบล่วงหน้าเป็นหนังสือไม่น้อยกว่า ๗ วัน และให้ปิดประกาศไว้ ณ ที่ทำการสมาคม
ข้อ ๒๗. การเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อบังคับนี้จะกระทำได้โดยมติของที่ประชุม ใหญ่และมติให้แก้ไขข้อบังคับต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า สองในสาม ของจำนวนสมาชิกที่มาประชุม
ข้อ ๒๘. ญัตติขอเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อบังคับต้องมาจากคณะกรรมการบริหาร หรือมาจากสามัญสมาชิกที่ได้ชำระค่าบำรุงติดต่อกันไม่ต่ำกว่า ๓ ปี จำนวนไม่น้อยกว่า ๓๐ คน โดยให้ทำเป็นหนังสือและให้เลขาธิการทำสำเนาแจกจ่ายแก่สมาชิกก่อนการประชุม ไม่น้อยกว่า ๗ วัน ให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญภายในกำหนด ๓๐ วัน นับแต่วันที่เลขาธิการได้รับญัตติดังกล่าว
ข้อ ๒๙. สมาคมเลิกโดย
๒๙.๑ ที่ประชุมใหญ่สามัญมีมติให้เลิกในการประชุมให้เลิกสมาคมนั้นต้องมีสามัญสมาชิกไปประชุมไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมด
๒๙.๒ เลิกตามกฎหมาย
ข้อ ๓๐. เมื่อสมาคมต้องเลิกไปไม่ว่าโดยสาเหตุใดๆ ให้ทรัพย์สินของสมาคมตกเป็นของนิติบุคคลในประเทศไทยที่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการกุศลสาธารณะแห่งหนึ่งแห่งใด หรือหลายแห่งตามมติของที่ประชุมใหญ่
ข้อ ๓๑. คณะกรรมการชุดแรกให้ผู้เริ่มการจัดตั้งสมาคมเป็นผู้เลือกตั้ง ประกอบด้วย นายกสมาคม และกรรมการอื่น ๆ ตามจำนวนที่เห็นสมควร ตามข้อบังคับของสมาคม
(ลงชื่อ)_____.__.________.ผู้จัดทำข้อบังคับ
( นายอัครวุฒิ ตำราเรียง )
มี 131 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์